เมื่อรัฐบาล “ทักษิณ” สามารถรวบรวมไพร่พลทางการเมืองมาตั้งพรรคใหม่ ชนะการเลือกตั้งไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็ใช้การ “ควบรวม” พรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามา จนสามารถเป็น “พรรคใหม่” กุมเสียงในสภาได้เบ็ดเสร็จ ก่อนจะแผ่อำนาจรุกคืบเข้าไปใน “วุฒิสภา” เพื่อ “ตัดกำลัง” การตรวจสอบ ถ่วงดุล และใช้เป็นฐานของการเลือกคนเข้าไปอยู่ใน “องค์กรอิสระ” จนองค์กรอิสระง่อยเปลี้ยเสียกำลัง ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล อย่างเข้มแข็งจริงจัง รัฐบาลขณะนั้นก็ “มัวเมาในอำนาจ” นำไปสู่การ “ทุจริต” รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “ทุจริตเชิงนโยบาย”กระทั่งเกิดการแตกคอกับสื่อคนสำคัญ และการไล่บี้เสี่ยคนหนึ่งให้ “จนตรอก” วิทยุชุมชน 92.25 ก็เกิดขึ้น เริ่ม “แฉ” ความชั่วร้ายของ “ระบอบทักษิณ” ขณะที่ค่ายผู้จัดการ สนธิ ลิ้มทองกุล ก็เริ่มปฏิบัติการเปิดโปงทักษิณอย่างเป็นระบบ
ในที่สุด ทักษิณก็แพ้ “สื่อ” ที่หยิบเอา “พฤติกรรม” ของเขามาตีแผ่ เกิดมวลชนที่เข้มแข็ง เกิดการต่อต้าน ขับไล่และยุติอำนาจทักษิณในขณะนั้นลงด้วยการ “รัฐประหาร” ของทหาร
ทหารที่กลับเข้ากรมกอง และอยู่อย่างเงียบกริบ หลังมีบาดแผลจากเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”
แต่ทหารก็ไม่สามารถหารัฐบาลที่บริหารได้ “ดีกว่า” มาชดเชยให้แก่ผู้คนได้ เมื่อกลับมาเลือกตั้ง คนส่วนใหญ่ก็ยังเลือก “คนของทักษิณ” กลับเข้าสู่สภา ทักษิณซึ่งหนีไปเลือกใช้ “นอมินี” นอกครอบครัว แต่พบว่า “ควบคุมไม่ได้” จึงเปิดปฏิบัติการใหม่ หลังนายสมัคร สุนทรเวช ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกฯ เพราะ “ชิมไปบ่นไป” คือทำผิดกฎหมายที่ไปรับผลตอบแทนค่าจัดรายการจากเอกชนสมัครคิดว่าตนจะได้รับการเลือกเข้ามาใหม่ ให้เป็น “นายกฯ” ดังเดิม แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ถูกเลือกขึ้นมาแทน สมัครล้มป่วยและรำพึงรำพันความเจ็บปวดใจไว้หลายประการ ขณะที่สมชายเป็นรัฐบาลที่เข้าทำเนียบฯไม่ได้ เพราะ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ยึดทำเนียบฯไว้ เพื่อยุติ “นอมินี” ของทักษิณ
แล้วก็เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองอีก เมื่อ ยงยุทธ ติยะไพรัชทุจริตการเลือกตั้ง ส่งผลให้สมชายต้องพ้นจากการเป็นนายกฯ เพราะถูกตัดสิทธิเนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ครั้งนั้นเองที่เนวิน ชิดชอบ แตกตัวออกมาตั้งพรรคใหม่ และหันไปสนับสนุน “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกฯ เปลี่ยนขั้วการเมืองจากฝั่งทักษิณ มาเป็นอีกฝั่ง
ผู้คนในเครือข่าย “ระบอบทักษิณ” เดือดดาลมาก ผลิตวาทกรรมและสร้างมวลชนขึ้นมา พร้อมๆ กับปมที่คนยังขัดแย้งกันมาจนถึงทุกวันนี้คือ 1.อำมาตย์อิจฉา กับ
2.ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
“อภิสิทธิ์” กับวิถี “สุภาพบุรุษประชาธิปไตย” ไม่เวิร์กในทาง “การต่อสู้” แต่ดีงามกับประเทศถ้ามีคนหนุน ทว่าคนไม่หนุน นำมาสู่ความล่มสลายของ “ประชาธิปัตย์” ในเวลาต่อมา นำมาสู่ “ความแข็งแกร่งของประยุทธ์” ในเวลานี้ขยายความให้ชัดขึ้น คือ มีการตั้งมวลชน นปช. ขึ้น ด้วยการฝังความโกรธแค้นลงไปในใจว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ไปตั้งในค่ายทหาร มีทหารจัดการให้ และหนุนหลัง เพื่อกีดกันทำลายทักษิณ คนที่ทำให้พี่น้องอยู่ดีกินดี อย่าลืมว่าทักษิณจบเพราะ “ทหาร” และกลับประเทศไม่ได้เพราะขี้ขลาด ไม่สามารถสู้คดีทุจริตในชั้นศาลได้ จึงเลือกบัญชาการสถานการณ์อยู่ในต่างประเทศ
ม็อบเสื้อแดงรุนแรงและท่วมท้นด้วยจำนวนมวลชน เกลียดอำมาตย์ ถึงขั้นบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ ในฐานะ “สัญลักษณ์” บางประการ เกลียดอภิสิทธิ์ ถึงขั้นทำลายการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเพื่อให้อาย ให้ลาออกไป จะได้เลือกตั้งกันใหม่ แต่อภิสิทธิ์ฮึดสู้อยู่ต่อ คราวนี้มาพร้อมกับสิ่งที่อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง หนึ่งในแกนนำ นปช. เรียกว่า“แก้วสามประการ” คือ พรรคการเมือง มวลชน และกองกำลัง(ติดอาวุธ) ถล่มทหารที่ขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เมษายน ที่แยกคอกวัวถึงขั้น “นองเลือด” แต่แกนนำเสื้อแดงไม่เคยพูดถึงเหตุการณ์นี้จนถึงทุกวันนี้ แต่มักจะหยิบเหตุการณ์นองเลือดที่วัดปทุมวนาราม ขึ้นมาพูดแทน เพื่อให้อีกฝ่าย คือ อภิสิทธิ์+ทหาร ชั่ว ผิด อำมหิตเหลือใจ ทั้งๆ ที่สุดท้าย เมื่อมีรัฐบาลต่อมา คือรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การเข็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หมายช่วยแกนนำและทักษิณ กลับสังเวยด้วยการตายของ “คนเสื้อแดง” ด้วยการไม่เอาผิดคนฆ่า ไม่ให้“ค้นหาความจริง” ซึ่งประเด็นนี้ คณะก้าวหน้า ที่จำแลงมาจากแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ก็ไม่องอาจพอที่จะพูดถึงมัน
บ้านเมืองจึงอยู่ในวังวน “ทักษิณ” กับ “ขั้วตรงข้าม” และนั่นก็เป็น “โจทย์” ของการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
“สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เปิดเกมขึ้นมาก่อนว่า จะเลือกฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายเผด็จการ ทำให้ฝ่ายทหาร คือ คสช. ที่ได้แกนนำ กปปส. เข้าร่วมในปีกการเมืองคือ พรรคพลังประชารัฐ เข็นแคมเปญ “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่”มาไล่บี้คะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ใน กทม. ทิ้ง ส่วนต่างจังหวัด อาศัยกระแส “ประยุทธ์-คนที่ถูกเลือกแล้ว” กับฐานความนิยมของ “นักการเมืองเก่า” เจ้าประจำ บวกกับกลไกความมั่นคง มหาดไทย และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นตัวโกยคะแนน
จำนวน สส. ก็ยังแพ้ “เพื่อไทย” แต่ฆ่า “ประชาธิปัตย์” โค่นอภิสิทธิ์ลงได้
เป็นคำตอบว่า บ้านเมืองไม่ต้องการ “ทางเลือกที่ 3”ที่อภิสิทธิ์เสนอ คือ ทำไมต้องระหว่างการสืบทอดอำนาจ กับฝ่ายคดโกง เราเลือกคนทำงาน คนแก้ปัญหาของประเทศชาติ สร้างอนาคตของประเทศกันดีไหม
คนชอบ “ทุ่งสังหาร” มากกว่า “ทุ่งลาเวนเดอร์”
เหมือนที่อภิสิทธิ์ เคยแพ้ให้แก่ยิ่งลักษณ์ เพราะคนยังถูกทำให้จำว่าอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ได้เพราะทหาร ไม่สนใจผลงานว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์กู้วิกฤติเศรษฐกิจและให้พื้นที่แก่ “ประชาธิปไตย” เพียงใด ถูกจได้แต่ความหน่อมแน้ม ดีแต่พูดและถูกรุมตีที่มหาดไทย ไม่ใช่ “นักรบ” ที่จะรบกับพวก “ทักษิณ” ได้
ความล้มเหลวของรัฐบาลเลือกตั้งในยุครัฐบาลทักษิณ คือ ความมัวเมาในอำนาจ กลายเป็นเผด็จการรัฐสภา แล้วเอา “เสียงส่วนใหญ่” ที่ควบรวมและแทรกซึมจนได้มา มาแปลงเป็นผลประโยชน์ จนถูกแฉ ถูกต้น เกิดการรัฐบาลประหาร ทหาร-ที่เคยตายสนิทไปจากใจคนหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กลับมามี “ที่ยืน” ทางการเมืองอีกรอบ“บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เลือกตั้งรัฐบาลโดยที่ตัวเองไม่มีตำแหน่ง เพื่อเลี่ยงบาดแผลแบบ “สุจินดา คราประยูร” แต่ผลงานของรัฐบาลชุดนั้นไม่ “ชนะใจคน” คนยังโหยหาทักษิณ” เมื่อเลือกตั้งใหม่ข้างทักษิณจึงชนะ แล้วจึงมาเพลี่ยงพล้ำอีกที เมื่อทหารช่วยคุยกับกลุ่มเนวิน แล้วดัน “อภิสิทธิ์” ขึ้นเป็นนายกฯ โดยมีสุเทพเป็น “ตัวเชื่อมต่อ” (ตามความเชื่อและการ IO ของฝ่ายทักษิณ) ใจของคนในฝ่ายทักษิณจึง “คาใจ” กับทหารอยู่ไม่รู้จบ
ครั้นมาเกิดรัฐประหารอีกรอบ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การฝังความเกลียดชังเรื่องอำมาตย์ ทหาร และประชาธิปัตย์ จึง “ตรึงแน่น” อยู่ในใจคนกลุ่มหนึ่ง
เมื่อเลือกตั้งใหม่ แม้อภิสิทธิ์พยายาม “สลัดหลุด” จากทหาร ด้วยการไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ ไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ พร้อมเสนอทางเลือก “แก้จนสร้างคน สร้างชาติ” มากกว่าจมปลักอยู่กับความขัดแย้ง แต่อารมณ์คนในเวลานั้นก็ไม่ “อิน” กับแนวทางนี้
คนอยากจะสู้กับฝ่ายทักษิณให้เด็ดขาด!!
ยิ่งเห็นพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อผู้จะเป็นนายกฯแล้ว คนยิ่งกลับมา “กลัวทักษิณ” กันอีกครั้ง เข้าทาง “ทหาร” ที่วางกติกาทั้งปวงผ่านรัฐธรรมนูญ, กฎหมายลูก, สว.เลือกนายกฯได้, องค์กรอิสระบางชุดให้ทำงานต่อ บางชุดให้จบไป แล้วเลือกคนใหม่ใส่เข้าไปให้ทำงาน การห้ามพรรคการเมืองทั้งหลายเคลื่อนไหว แต่กลุ่มสามมิตรไปได้ทั่วประเทศ ชักชวนคนนนั้นคนนี้มาเล่นการเมืองต่อ แล้วสุดท้าย สามมิตรก็เป็นแกนนำของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
ผสานไปกับภาพ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งอ่านหนังสือ “คำพ่อสอน” ก่อนลงคะแนนเลือกตั้งไม่กี่วัน ป้ายไฟในค่ายทหาร และโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจในคืนก่อนวันเลือกตั้ง ล้วนเป็นบริบทส่งให้พรรคพลังประชารัฐถูกเลือก เพื่อส่ง พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นสู่เก้าอี้ “นายกฯ” ให้สำเร็จ
จำเนียรกาลผ่านมา 1 ปี พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามทางการเมืองอ่อนเปลี้ย ด้วยบุคลากรที่เหลืออยู่และทำงานในสภา มิใช่ “หัวกะทิ” การอภิปรายทำได้อย่างไร้ประสิทธิภาพ ล้าหลัง และบ้าน้ำลาย พรรคประชาธิปัตย์ก็สยบอยู่แทบเท้าวิปรัฐบาล วางหลักการ ทิ้งศักดิ์ศรี ไม่โงหัวขึ้นมาสู้อย่าจริงจัง หลังเข้าร่วมรัฐบาล การตรวจสอบแบบ “มืออาชีพ”จึงถูกงดเว้น ไม่ปเนที่พึ่งหวังได้ พรรคอนาคตใหม่ ก็มี “อารมณ์ส่วนตัวทางการเมือง” รบกวนการทำงาน ทำให้ออกอาการ สุดโต่ง” ไปแบบจะทุกเรื่อง แต่ก็โดดเด่นและมีคุณภาพกว่าพรรคเพื่อไทย ทว่าสุดท้ายก็มาจบลงด้วยการจัดการส่วนตัวที่ไม่รอบคอบของ “หัวหน้าพรรค” และคณะผู้บริหารเปิดทางให้ “เสี้ยนหนามทางการเมือง” ของ “ทหาร” ในรูป“จำแลงแล้ว” เดินหน้าต่ออย่างไม่ต้องเหนื่อยหนั
แกนนำมวลชนทุกกลุ่มทุกสี ที่พอจะเป็นแรงต้านได้ ก็อ่อนล้าไปกับคดีความต่างๆ และปลงสังเวชกับสิ่งที่ได้เห็นบนเวทีแห่งอำนาจที่ช่วงชิงกันไปมา บ้างแปรพักตร์เข้าหาผลประโยชน์ ส่วนแกนนำคนรุ่นใหม่ ก็ยังอยู่ในวัยมุทะลุ เคลื่อนไหวแต่ละครั้งก็มีแต่เจ็บตัว เข้าทางอีกฝ่ายอยู่เสมอ แต่ก็สร้างแรงเสียดทานได้พอสมควร
วันนี้ มาถึงจุดที่ “ทหาร” ยึดอำนาจอีกรอบได้เบ็ดเสร็จแล้วครับ บิ๊กป้อม-ยึดพรรคพลังประชารัฐได้ชั่วคราว (หมายถึงว่า เวลานี้นักการเมืองในพรรคไม่กล้าสำแดงเดชปะทะกับพล.อ.ประวิตร จึงใช้วิธี “เล่นตามน้ำ” หาความดีความชอบไปก่อน ให้ลุงป้อมแกสบายใจ เดี๋ยวค่อยหว่านล้อม ตะล่อม ให้แก่ทำตามที่ต้องการไปทีละเล็กละน้อย) รอบิ๊กตู่ปรับ ครม.
บ้านเมืองของเราเวลานี้ จึงอยู่ในมือ 3 ป. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เสียงฝั่งรัฐบาลท่วมท้น เพราะหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ ย้ายฟากมาอยู่กับพรรคร่วมฝั่งรัฐบาลเยอะมาก พรรคลิงกินกล้วยทั้งหลายก็เลยอ่อนกำลังต่อรอง พรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ก็มีปัญหากันเอง ภูมิใจไทยสงบวางชั้นเชิง เพราะกำลังมีแต้มต่อเนื่องจากเสียงเพิ่มขึ้นนับ 10 เสียง ในพรรคมีเอกภาพ และ “คลังกระสุนทางการเลือกตั้ง” แน่น!!
การเมืองเวลานี้ จึงไม่มีใครทัดทานอำนาจของประยุทธ์-ประวิตร-อนุพงษ์ ได้
อยู่แค่พวกเขาจะสะดุดขาตัวเองหรือสะขากันเองหรือไม่เท่านั้น!!
ยกเว้นว่า ศัตรูใหม่อย่าง “โควิด-19” กับ “ปัญหาเศรษฐกิจ” เท่านั้น ที่จะทั้ง “โค่น” และ “ฝังกลบ” ทหารเกษียณ ที่มี “แบ๊กอัพดี” ชุดนี้ลงทั้งยวง นั่นอาจรวมถึง
แบ๊กอัพด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ จึงควรใช้โอกาสอันดีนี้“เขียนตำนาน” ให้ตัวเองและผู้สนับสนุนทั้งปวง ว่าเป็นผู้“กอบกู้” ประเทศชาติ
1) ไม่ต้องไปฉุนเฉียว เสียอารมณ์กับคำอภิปรายในสภารอบล่าสุด จำแต่เพียงว่า สภาเตือนว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 นั้น ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์หลังโควิด-19 เสมือนหยิบเอาร่างที่ทไว้ก่อนโควิด-19 จะมา มาพิมพ์ใบปะหน้าเพิ่มขึ้นเท่านั้น ซึ่งมันจะทำให้การใช้เงินเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ไม่ตอบโจทย์ปัญหาหรือสถานการณ์เร่งด่วนทั้งหลาย
2) เงินกู้ที่กู้มา ก็ยังไม่มีการสำรวจปัญหาเพื่อเห็น “เป้า” ที่ชัดๆ แล้วแปลงเงินกู้เหล่านั้นปเน “กระสุน” ยิงไปที่เป้า เพื่อปลิดชีพปัญหาทั้งหลายลงอย่างตรงจุด มีประสิทธิภาพ ยังไม่รวมวา ต้องกระทำโดยสุจริตด้วย
3) คณะรัฐมนตรีที่คลุมเครือว่าจะปรับหรือไม่ปรับ คือ ปัญหาของประเทศชาติ เป็นปัญหาด้านความมั่นใจ ที่ทำให้เกิดการชะลอการลงทุน ชะลอการใช้จ่าย รอดูก่อนว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีตัวจริง ข้าราชการก็เริ่มไม่แน่ใจว่าใครจะเป็นเจ้านายในกระทรวงกู ดังนั้น จะทำตามที่คนปัจจุบันนี้สั่งดีไหมวะ หรือซื้อๆ เวลาไปก่อน นายกรัฐมนตรีจึงต้องหยุดสะบัดสะบิ้งเวลาสื่อถามเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี แล้วทำให้มันชัดเจนเสีย คนทั้งโลกเขาจะได้เห็นความชัดเจนและตัดสินใจได้ว่า จะมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับประเทศไทย โดยเฉพาะการค้า การลงทุน ที่ต้องเห็นทั้งตัวคนและทิศทาง
4) ความสมดุลระหว่าง “สาธารณสุข” กับ “เศรษฐกิจ”ต้องจัดการให้ดี เวลานี้พูดกันมากแล้วว่า เอาสาธารณสุขนำหน้ามากเกินไป จนเศรษฐกิจ “ตายหมู่” ฝ่ายการเมืองก็ได้ที โจมตีว่ารักษา พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้ เพียงเพราะหวงอำนาจ ไม่อยากคืนอำนาจที่เบ็ดเสร็จอยู่ในมือกลับออกไป เอาไว้ปิดกั้นการเคลื่อนไหวทางการเมือง เล่นงานคนเห็นต่าง ดังนั้น ต้องจัดการเรื่องที่ “อธิบายไม่ได้” พวกนี้ให้ดีๆ
5) สิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ เงินเยียวยาชุดแรกจะหมดฤทธิ์ พิษเศรษฐกิจจะคุกคามผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และประชาชนอย่างจริงๆ จังๆ รัฐบาลจะทำยังไง ท่ามกลางความคลุมเครือว่าใครคือรัฐมนตรีตัวจริง
6) เงินที่กู้มา จะอนุมัติให้ทำโครงการอะไรบ้าง โครงการเหล่านั้นจะ “ตอบโจทย์” ความแร้นแค้น ไร้โอกาส ของประชาชนได้จริงหรือไม่ เพราะริเริ่มมาจากข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ และนายกฯ บัญชาการทัพข้าราชการ ซึ่งต้องยอมรับว่าอยู่กับระบบมานาน ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้หรือไม่ เพียงใด จะสำเร็จหรือล้มเหลว
7) หากเกิดการระบาดระลอกที่ 2 รัฐบาลจะจัดการกับโควิด-19 อย่างไรต่อไป จะซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจให้หนักหน่วงแค่ไหน เงินที่มีเพียงพอหรือไม่ รายได้ของรัฐที่ลดลงอย่างมากจะทำอย่างไร
แรงเสียดทานและความยุ่งยากทางการเมืองทุเลาลงแล้ว
เลยเวลาบริหารการเมือง มาบริหาร “บ้านเมือง” ให้ “เห็นฝีมือ” ดูสักหน่อยเป็นไร
ว่าแต่..มีไหม ฝีมือ?!?!?
"เบ็ดเสร็จ" - Google News
July 05, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/2NT6D6N
คอลัมน์การเมือง - 'ลุงตู่' มีไหม...ฝีมือ?!? - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
"เบ็ดเสร็จ" - Google News
https://ift.tt/3eIa4sb
No comments:
Post a Comment